โครงสร้างกฎหมาย


โครงสร้างกฎหมาย ภาษีอากร

กฎหมายภาษีอากรทุกฉบับ มีหัวข้ออันเป็นโครงสร้างของกฎหมายฉบับนั้นๆ ซึ่งอาจแบ่งได้เป็น 6 หัวข้อด้วยกัน คือ

  • ผู้มีหน้าที่เสียภาษีอากร
  • ฐานภาษีอากร
  • อัตราภาษีอากร
  • การประเมินการจัดเก็บภาษีอากร
  • การอุทธรณ์ภาษีอากร
  • เบี้ยปรับ เงินเพิ่ม และโทษ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี


ภาษีอากร


ภาษีอากร คือสิ่งที่รัฐบาลบังคับเก็บจากราษฎร เพื่อใช้เป็นประโยชน์ส่วนรวม โดยไม่ได้มีสิ่งตอบแทนโดยตรงแก่ผู้เสียภาษีอากร หรืออีกความหมาย คือ เงินได้หรือทรัพยากร ที่เคลื่อนย้ายจากเอกชนไปสู่รัฐบาล แต่ไม่รวมถึงการกู้ยืมหรือขายสินค้า หรือให้บริการในราคาทุนโดยรัฐบาล วัตถุประสงค์ในการเก็บภาษี เพื่อหารายได้ให้พอกับค่าใช้จ่ายของรัฐบาล เพื่อการกระจายรายได้ เพื่อควบคุมการบริโภคของประชาชน เพื่อการชำระหนี้สินของรัฐบาล หรือสนองนโยบายธุรกิจ และการคลังของรัฐบาล ประเภทภาษีอากร แบ่งเป็นภาษีอากรทางตรง และภาษีทางอ้อม ซึ่งกฎหมายที่ทางรัฐบาลใช้ในการเรียกเก็บภาษี คือ ประมวลรัษฎากร

ลักษณะของภาษีอากรที่ดี รัฐธรรมนูญเกือบทุกฉบับมักบัญญัติให้ประชาชนมีหน้าที่ต้องเสียภาษีอากรตามที่กฎหมายบัญญัติ ในการบัญญัติกฎหมายภาษีอากรที่ดีนั้น มีหลักการบางประการที่ควรคำนึงถึง เพื่อให้ประชาชนมีความสมัครใจในการเสียภาษีอากร และให้กฎหมายดังกล่าวใช้บังคับได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภาษีอากรที่ดีควรมีลักษณะดังนี้

  1. มีความเป็นธรรม
  2. มีความแน่นอน และชัดเจน
  3. มีความสะดวก
  4. มีประสิทธิภาพ
  5. มีความเป็นกลางทางเศรษฐกิจ
  6. อำนวยรายได้
  7. มีความยืดหยุ่น

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี


ภาษีสรรพสามิต


ภาษีสรรพสามิต คือ ภาษี ประเภทที่เรียกเก็บจากสินค้าและบริการบางประเภท โดยสินค้าหรือบริการนั้นๆ มีลักษณะเป็นการฟุ่มเฟือย หรือสินค้าที่ได้รับผลประโยชน์เป็นพิเศษจากรัฐ โดยอัตราการเรียกเก็บขึ้นอยู่กับทางหน่วยงานปกครองจะกำหนด

ภาษีสรรพสามิตในประเทศไทย

ประเทศไทยจัดเก็บ ภาษีสรรพสามิต โดยออก พ.ร.บ. เพื่อควบคุมสินค้าหลักๆ เช่น สุรา ยาสูบ ไพ่ แบตเตอรี่ น้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน และ สินค้าฟุ่มเฟือย เช่น น้ำหอม รถยนต์ เรือยอชต์ รวมทั้งสถานบริการ เช่น สนามแข่งม้า สนามกอล์ฟ

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี


ประวัติ ภาษีมูลค่าเพิ่ม


ในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2535 ประเทศไทยได้เริ่มมีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นครั้งแรก

การนำภาษีมูลค่าเพิ่มมาใช้เป็นผลมาจากเหตุผลในทางเศรษฐกิจ กล่าวคือ จากการที่เศรษฐกิจของประเทศไทยขยายตัวอย่างรวดเร็ว ฐานะทางเศรษฐกิจการเงินการคลังของประเทศมั่นคงขึ้นมาก ในขณะที่มีการกล่าวถึงความไม่เหมาะสมของโครงสร้างภาษีการค้าต่อเศรษฐกิจของประเทศ อันได้แก่ความซ้ำซ้อนของระบบภาษีการค้าที่เป็นอยู่ และความหลากหลายของโครงสร้างอัตราภาษีนอกจากความบกพร่องของระบบภาษีการค้า ซึ่งไม่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคตแล้ว ความต้องการเปลี่ยนแปลงระบบภาษีของทางการ ยังสืบเนื่องมาจากเหตุผลทางด้านภาษีอากรอีกด้วย กล่าวคือ ความสามารถในการหารายได้ของรัฐผ่านเครื่องมือทางภาษีการค้าและภาษีศุลกากรได้ลดน้อยลงเป็นลำดับ

ด้วยเหตุผลดังกล่าว กระทรวงการคลัง จึงได้เสนอพิจารณายกเลิกภาษีการค้า และนำภาษีมูลค่าเพิ่มมาใช้แทน โดยภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าวจะมีอัตราเดียวที่ใช้กับสินค้าและบริการทุกชนิด สำหรับสินค้าใดที่มีเหตุผลทางเศรษฐกิจที่จะเก็บสูงกว่าอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้เก็บภาษีสรรพสามิตเพิ่มเติมจากภาษีมูลค่าเพิ่ม

การนำภาษีมูลค่าเพิ่มมาใช้นี้ นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญต่อระบบภาษีอากรของประเทศไทยเป็นการปฏิรูปภาษีการค้าครั้งใหญ่ ทำให้ระบบภาษีอากรของประเทศมีความสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน และเอื้ออำนวยต่อการลงทุนการส่งออก และการขยายตัวอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจ เนื่องจากภาษีมูลค่าเพิ่มไม่มีความซ้ำซ้อนของภาระภาษีดังเช่นภาษีการค้า นอกจากนี้ภาษีมูลค่าเพิ่มทำให้เกิดความเป็นธรรมและความสะดวกต่อการปฏิบัติตามของผู้เสียภาษีอีกด้วย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี


ภาษีมูลค่าเพิ่ม


ภาษีมูลค่าเพิ่ม (Value Added Tax – VAT) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า แวต เป็นภาษีทางอ้อมประเภทหนึ่งที่เรียกเก็บจากบุคคลที่ซื้อสินค้า หรือรับบริการ โดยจัดเก็บเฉพาะจากมูลค่าส่วนที่เพิ่มขึ้นในแต่ละขั้นตอนของการผลิต การจำหน่ายหรือการให้บริการ ตัวอย่างเช่น สมมติว่าอัตราภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นร้อยละ 10 ซื้อวัตถุดิบ วัสดุอุปกรณ์มา 100 บาท และมีภาษีซื้อ 10 บาท เมื่อผลิตเป็นสินค้าขายในราคา 150 บาท ตอนขายไปจะต้องคิดภาษีขาย 15 บาท ดังนี้ ก็จะเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเฉพาะผลต่างจำนวน 15-10 = 5 บาท เท่านั้น ถ้าการซื้อ และขายเกิดขึ้นภายในรอบการจ่ายภาษีเดียวกัน.

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี