พสกนิกรไทยทุกภาคส่วน ร่วมพิธีถวายพระพรชัยมงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 82 พรรษา 5 ธันวาคม 2552


พสกนิกรไทยทุกภาคส่วน ร่วมพิธีถวายพระพรชัยมงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 82 พรรษา 5 ธันวาคม 2552

กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ร่วมกับจังหวัดสระแก้ว สหกรณ์โคนมวังน้ำเย็น จำกัด และบริษัท ฟาร์ม แชนเนล (ประเทศไทย) จำกัด จัดพิธีถวายพระพรชัยมงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 82 พรรษา 5 ธันวาคม 2552 อย่างยิ่งใหญ่ ณ สหกรณ์โคนมวังน้ำเย็น จำกัด จังหวัดสระแก้ว เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2552

นายอนันต์ ภู่สิทธิกุล อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ กล่าวว่า ด้วยสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณขององค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ทรงประกอบพระราชกรณียกิจนานัปการเพื่อความผาสุกของปวงชนชาวไทย และเพื่อให้พสกนิกรไทยร่วมกันแสดงความจงรักภักดี กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ร่วมกับจังหวัดสระแก้ว สหกรณ์โคนมวังน้ำเย็น จำกัด และบริษัท ฟาร์ม แชนเนล (ประเทศไทย) จำกัด นำสมาชิกสหกรณ์กว่า 10,000 คน จาก 300 สหกรณ์ภาคการเกษตรไทย ร่วมพิธีถวายพระพรชัยมงคล เฉลิมพระชนมพรรษา 82 พรรษา 5 ธันวาคม 2552 อย่างยิ่งใหญ่ โดยมีการอัญเชิญขบวนเครื่องราชสักการะเฉลิมพระเกียรติและการแสดงเทิดพระเกียรติ

บรรยากาศเต็มไปด้วยความอบอุ่น พสกนิกรไทยที่ร่วมงานต่างเปล่งเสียงร้องเพลงเพื่อเทิดพระเกียรติและแสดงถึงพลังแห่งความจงรักภักดีกันอย่างกึกก้อง นำโดย นายเสนาะ เทียนทอง อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายศุภชัย โพธิ์สุ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายอนันต์ ภู่สิทธิกุล อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ นายศานิตย์ นาคสุขศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดสระแก้ว นายอำนวย ทงก๊ก ประธานสหกรณ์โคนมวังน้ำเย็น จำกัด และนางศศิกร ฉันท์เศรษฐ์ ผู้บริหารสายธุรกิจโทรทัศน์บริษัท กันตนา กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ประธานบริษัท ฟาร์มแชนเนล (ประเทศไทย) จำกัด

นอกจากนี้ยังมีผู้บริหารและบุคลากรสังกัดกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บริษัท กันตนา กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) และบริษัท ฟาร์ม แชนเนล (ประเทศไทย) จำกัด ตลอดจนประชาชนทั่วไปเข้าร่วมถวายพระพรชัยมงคลอย่างพร้อมเพรียงกัน

http://www.cad.go.th/


เดินหน้าพัฒนามาตรฐานบัญชี และภาวะความเสี่ยงทางการเงินของสหกรณ์โคนมไทย


เดินหน้าพัฒนามาตรฐานบัญชี และภาวะความเสี่ยงทางการเงินของสหกรณ์โคนมไทย

กรมตรวจบัญชีสหกรณ์จัดเสวนา “มาตรฐานบัญชีและภาวะความเสี่ยงทางการเงินของสหกรณ์โคนม” ย้ำ การพัฒนามาตรฐานการบัญชีอย่างเป็นระบบในทุกด้าน ช่วยให้สหกรณ์หลีกเลี่ยงภาวะความเสี่ยง สร้างฐานะทางการเงินที่มั่นคง แม้ในสภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลง ณ โรงแรมเคพีแกรนด์ จังหวัดจันทบุรี เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2552โดยมี นายอนันต์ ภู่สิทธิกุล อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เป็นประธานเปิดการเสวนา

นายอนันต์ ภู่สิทธิกุล อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เปิดเผยว่า ในสภาวะการณ์ปัจจุบัน ทุกสหกรณ์ล้วนแต่มีโอกาสพบกับภาวะความเสี่ยงทางการเงินทั้งสิ้น การพัฒนามาตรฐานการบัญชีอย่างเป็นระบบในทุก ๆ ด้าน จะช่วยให้สหกรณ์สามารถหลีกเลี่ยงภาวะความเสี่ยงได้ รวมถึงช่วยให้สหกรณ์ยิ่งมีฐานะทางการเงินที่มั่นคง แม้ต้องประสบกับสภาพเศรษฐกิจที่มีการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจสหกรณ์โคนมเป็นธุรกิจหนึ่งที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีสหกรณ์โคนมทั่วประเทศ 98 สหกรณ์ สมาชิกรวมทั้งสิ้น 21,933 คน ทุนดำเนินงานในปี 2551 5,168.17 ล้านบาท ปริมาณธุรกิจโดยรวม 12,791.25 ล้านบาท สร้างรายได้รวม 12,170.22 ล้านบาท สมาชิกมีเงินออมเฉลี่ย 40,118.74 บาทต่อคนเพิ่มขึ้นจากปี 2549 ถึง 2,394.75 บาทต่อคน จะเห็นได้ว่าธุรกิจของสหกรณ์โคนมนอกจากจะมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศแล้ว ยังสะท้อนความเป็นอยู่ของเกษตรกรสมาชิกผู้เลี้ยงโคนมด้วย

กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ในฐานะหน่วยงานภาครัฐที่ต้องร่วมดูแล สร้างความเข้มแข็งมั่นคงแก่สหกรณ์ทุกประเภท จึงมุ่งพัฒนารูปแบบและกำหนดมาตรฐานการบัญชีรองรับธุรกิจของสหกรณ์โคนม รวมทั้งออกแบบกระบวนการธุรกิจสหกรณ์โคนมที่สอดคล้องกับกระบวนการมาตรฐานสากล (Best Practice) การเสวนาในครั้งนี้ เพื่อจะนำสหกรณ์โคนมโดยมีประธานกรรมการและผู้จัดการสหกรณ์โคนมจาก 98 แห่งทั่วประเทศ ได้รับทราบและเข้าใจเกี่ยวกับระบบการพัฒนาสหกรณ์โคนมในอนาคต และมาตรฐานการบัญชีโดยใช้เทคโนโลยี รวมทั้งการวิเคราะห์ภาวะเสี่ยงภัยทางการเงินของสหกรณ์โคนม ตลอดจนเพื่อให้ผู้เข้าเสวนาได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการพัฒนาศักยภาพสหกรณ์ให้เกิดความเข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้ในอนาคต

นายอนันต์ ภู่สิทธิกุล กล่าวต่ออีกว่า สิ่งที่ค่อนข้างเป็นห่วงสำหรับสหกรณ์โคนมคือระดับการควบคุมภายในที่ยังคงมีจุดอ่อนอยู่ประมาณ 27% และต้องเข้าไปให้การช่วยเหลือสหกรณ์โคนมที่ยังยืนอยู่ด้วยตนเองไม่ได้โดยใช้มาตรฐานบัญชี ซึ่งจะต้องได้รับความร่วมมือจากประธานและผู้จัดการสหกรณ์โคนมในการทำให้ระบบมาตรฐานบัญชีเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ได้ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พัฒนามาตรฐานการบัญชีสำหรับสหกรณ์โคนม อันจะนำไปสู่การนำเทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่มาใช้ในการดำเนินงานของสหกรณ์ ให้มีระบบระเบียบแบบแผนเป็นมาตรฐานและมีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถเป็นต้นแบบในการพัฒนาสหกรณ์ในประเภทธุรกิจเดียวกัน

นอกจากนี้ ภายในงานได้จัดให้มีการศึกษาดูงานด้านระบบการจัดการและพัฒนาธุรกิจสหกรณ์ให้มีประสิทธิภาพของสหกรณ์โคนมวังน้ำเย็น จำกัด จังหวัดสระแก้ว เพื่อนำไปปรับใช้กับสหกรณ์ที่รับผิดชอบ และการมอบเกียรติบัตรการพัฒนามาตรฐานการบัญชีด้วยเทคโนโลยีการบัญชีเต็มรูปแบบให้กับสหกรณ์โคนมรวม 60 แห่ง

http://www.cad.go.th/


กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ จับมือ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เสริมสร้างและพัฒนาองค์ความรู้ สร้างโอกาสการเรียนรู้ 7 มิติ


กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ จับมือ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เสริมสร้างและพัฒนาองค์ความรู้ สร้างโอกาสการเรียนรู้ 7 มิติ

กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ร่วมกับ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ สร้างความร่วมมือทางวิชาการ การศึกษา วิจัยพัฒนา และบริหารจัดการงานด้านเกษตรและสหกรณ์ เพื่อรวบรวมเสริมสร้างและพัฒนาองค์ความรู้ สร้างโอกาสการเรียนรู้ใน 7 มิติ โดยได้มีการลงนามบันทึกข้อตกลงร่วมกันระหว่างกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ โดยนายอนันต์ ภู่สิทธิกุล อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยรองศาสตราจารย์ชูเกียรติ รักซ้อน ปฏิบัติราชการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2552 ณ โรงแรมเคพี แกรนด์ จังหวัดจันทบุรี

ความร่วมมือทางวิชาการดังกล่าวมุ่งหวังให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นอยู่ดีกินดีบนพื้นฐานความสมดุล นำไปสู่ความเข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน โดยทั้งสองหน่วยงานจะร่วมกันพัฒนาองค์ความรู้ สร้างโอกาสการเรียนรู้ใน 7 มิติ ได้แก่

1) การสร้างมาตรฐานการบัญชีสถาบัน
2) การสร้างเครื่องมือสารสนเทศ (IT เตือนภัย)
3) การสร้างความร่วมมือผู้ตรวจสอบกิจการ
4) การสร้างภูมิปัญญาทางบัญชีสมาชิก
5) การสร้างเครือข่ายธุรกิจวิสาหกิจชุมชน
6) การสร้างความสนใจเกษตรกรรุ่นใหม่
7) การสร้างอาสาสมัครครูบัญชีอาสา

http://www.cad.go.th/


สร้างโอกาสการเข้าถึงระบบตลาดเพื่มศักยภาพการพึ่งพาตนเองของสหกรณ์


สร้างโอกาสการเข้าถึงระบบตลาดเพื่มศักยภาพการพึ่งพาตนเองของสหกรณ์

กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เร่งสร้างโอกาสการเข้าถึงระบบตลาดสร้างเครือข่ายรายสินค้าระหว่างสหกรณ์กับสหกรณ์ (Business to Business : B to B) ในงาน “คนไทยหัวใจเกษตรครั้งที่ 2” ระหว่างวันที่ 26-29 พฤศจิกายน 2552 ณ กันตนา มูฟวี่ทาวน์ ศาลายา จังหวัดนครปฐม

ธุรกิจสหกรณ์ถือเป็นเศรษฐกิจฐานรากที่สำคัญของประเทศไทย โดยเฉพาะในภาคการเกษตรไทย ซึ่งถือเป็นภาคใหญ่ของสหกรณ์ด้วยสมาชิกมากที่สุดกว่า 6 ล้านคน ที่มีการจัดการใน 3 ธุรกิจหลัก สร้างมูลค่าเพิ่มถึง 105,324.17 ล้านบาท และสร้างกำไรสุทธิมูลค่า 2,623.22 ล้านบาท ในปี 2552 หากมองผ่านตัวเลขดังกล่าวผ่านกลไกการบัญชี นับได้ว่า ภาคสหกรณ์ไทยเป็นบทพิสูจน์อย่างดีในการรองรับนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจในภาครัฐ ดังนั้น การพัฒนาธุรกิจของสถาบันเกษตรกรอย่างต่อเนื่อง จะช่วยให้สหกรณ์สามารถสร้างกำไรเพื่อช่วยเหลือสมาชิก และเข้าถึงโอกาสทางการตลาดและแหล่งทุน

ภายใต้โครงการพลิกฟื้นธุรกิจสถาบันเกษตรกรผ่านกลไกการบัญชี ปี 2552 – 2553 ของกรมตรวจบัญชีสหกรณ์นั้น จะช่วยให้สถาบันเกษตรกรเข้าถึงโอกาสในการเข้าถึงระบบตลาด สร้างการแพร่กระจายการจัดการเชิงพื้นที่รายสินค้า กลุ่มธุรกิจ (Business to Business : B to B)

ภายในงาน “คนไทยหัวใจเกษตร ครั้งที่ 2” ซึ่งกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ร่วมกับ สถานีโทรทัศน์โมเดิร์นไนน์ และบริษัท กันตนา กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) โดยฟาร์ม แชนเนล (ประเทศไทย) จำกัด นอกจากจะมีการจัดแสดง และจัดจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตรและผลิตภัณฑ์ของชุมชนภายใต้การบริหารจัดการของสหกรณ์การเกษตร ได้จัดให้มีเวทีการสร้างเครือข่ายรายสินค้าระหว่างสหกรณ์กับสหกรณ์ (Business to Business : B to B) เพื่อให้สหกรณ์ได้เจรจาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างสหกรณ์ทุกวัน และเป็นการเปิดตลาดทางการค้า อันจะส่งผลให้มีการพัฒนาธุรกิจของสถาบันเกษตรกรให้มีความเข้มแข็ง เป็นอิสระและพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน โดยได้รับความสนใจจากสหกรณ์ที่ร่วมงานเป็นอย่างดี และเพื่อให้การเปิดตลาดการค้าให้กับสหกรณ์ภาคการเกษตร มีระบบที่ทันสมัยรวดเร็ว และเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจของสหกรณ์ กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ยังได้พัฒนาเครื่องมือ (Tools) ที่จะช่วยให้ตลาดการค้าของธุรกิจสหกรณ์แพร่หลายสู่กลุ่มผู้ผลิตผู้บริโภค และสหกรณ์อื่นๆ ผ่านเว็บไซต์ www.coopinthailand.com ซึ่งเว็บไซต์ดังกล่าว ได้รวบรวมข้อมูลต่างๆ ของสหกรณ์กว่า 1500 แห่งทั่วประเทศ โดยสามารถค้นหาข้อมูล แยกเป็นหมวดหมู่รายสินค้าและรายพื้นที่ และยังเป็นดรรชนี แหล่งวัตถุดิบทางการเกษตร และศูนย์กลางแลกเปลี่ยนทางการค้าและธุรกิจ เป็นการสนับสนุนธุรกิจสหกรณ์ไทยฐานะตัวกลาง การซื้อขายแลกเปลี่ยนและกระจายผลผลิตจากกลุ่มเกษตรไปสู่กลุ่มผู้ผลิต ผู้บริโภค และกลุ่มสหกรณ์ด้วยกัน

นอกจากนี้ ยังเป็นการกระตุ้นให้เกิดการซื้อขายผลผลิตที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานในราคาเหมาะสม อันเป็นการสนองนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมการค้าแบบเสรี เพิ่มขีดการแข่งขันทางการตลาดทั้งในและต่างประเทศ และเพิ่มศักยภาพของกลุ่มสหกรณ์ไทยในการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อนำมาพัฒนาปรับปรุงผลิตภัณฑ์ ช่วยเสริมสร้างรายได้ให้กับสหกรณ์ และพัฒนาคุณภาพชีวิตองค์รวมของคนไทยตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง

สำหรับผู้ที่สนใจจะสมัครสมาชิกเว็บไซต์ดังกล่าว สามารถเข้าเยี่ยมชมและสมัครได้ที่ www.coopinthailand.comซึ่งมีโปรโมชั่นพิเศษ เมื่อสมัครภายในสิ้นปีนี้ เพียง 999 บาท (จากราคาปกติ 1,999 บาท) และจะได้รับสิทธิพิเศษ อาทิ พื้นที่สำหรับโฆษณาและประชาสัมพันธ์สหกรณ์บนเว็บไซต์ จำนวน 1 หน้า เป็นเวลา 1 ปี หนังสือ OPEN MARKET รายปี 1 เล่ม, เสื้อ T-Shirt OPEN MARKET 1 ตัว และกระเป๋าดีไซน์เก๋ 1 ใบ ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ คุณนาตยา คงนิยม โทร. 02-438-2033 , 081-990-8199

http://www.cad.go.th/