เดินหน้าพัฒนามาตรฐานบัญชี และภาวะความเสี่ยงทางการเงินของสหกรณ์โคนมไทย


เดินหน้าพัฒนามาตรฐานบัญชี และภาวะความเสี่ยงทางการเงินของสหกรณ์โคนมไทย

กรมตรวจบัญชีสหกรณ์จัดเสวนา “มาตรฐานบัญชีและภาวะความเสี่ยงทางการเงินของสหกรณ์โคนม” ย้ำ การพัฒนามาตรฐานการบัญชีอย่างเป็นระบบในทุกด้าน ช่วยให้สหกรณ์หลีกเลี่ยงภาวะความเสี่ยง สร้างฐานะทางการเงินที่มั่นคง แม้ในสภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลง ณ โรงแรมเคพีแกรนด์ จังหวัดจันทบุรี เมื่อวันที่ 3 ธันวาคม 2552โดยมี นายอนันต์ ภู่สิทธิกุล อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เป็นประธานเปิดการเสวนา

นายอนันต์ ภู่สิทธิกุล อธิบดีกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ เปิดเผยว่า ในสภาวะการณ์ปัจจุบัน ทุกสหกรณ์ล้วนแต่มีโอกาสพบกับภาวะความเสี่ยงทางการเงินทั้งสิ้น การพัฒนามาตรฐานการบัญชีอย่างเป็นระบบในทุก ๆ ด้าน จะช่วยให้สหกรณ์สามารถหลีกเลี่ยงภาวะความเสี่ยงได้ รวมถึงช่วยให้สหกรณ์ยิ่งมีฐานะทางการเงินที่มั่นคง แม้ต้องประสบกับสภาพเศรษฐกิจที่มีการเปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจสหกรณ์โคนมเป็นธุรกิจหนึ่งที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีสหกรณ์โคนมทั่วประเทศ 98 สหกรณ์ สมาชิกรวมทั้งสิ้น 21,933 คน ทุนดำเนินงานในปี 2551 5,168.17 ล้านบาท ปริมาณธุรกิจโดยรวม 12,791.25 ล้านบาท สร้างรายได้รวม 12,170.22 ล้านบาท สมาชิกมีเงินออมเฉลี่ย 40,118.74 บาทต่อคนเพิ่มขึ้นจากปี 2549 ถึง 2,394.75 บาทต่อคน จะเห็นได้ว่าธุรกิจของสหกรณ์โคนมนอกจากจะมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของประเทศแล้ว ยังสะท้อนความเป็นอยู่ของเกษตรกรสมาชิกผู้เลี้ยงโคนมด้วย

กรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ในฐานะหน่วยงานภาครัฐที่ต้องร่วมดูแล สร้างความเข้มแข็งมั่นคงแก่สหกรณ์ทุกประเภท จึงมุ่งพัฒนารูปแบบและกำหนดมาตรฐานการบัญชีรองรับธุรกิจของสหกรณ์โคนม รวมทั้งออกแบบกระบวนการธุรกิจสหกรณ์โคนมที่สอดคล้องกับกระบวนการมาตรฐานสากล (Best Practice) การเสวนาในครั้งนี้ เพื่อจะนำสหกรณ์โคนมโดยมีประธานกรรมการและผู้จัดการสหกรณ์โคนมจาก 98 แห่งทั่วประเทศ ได้รับทราบและเข้าใจเกี่ยวกับระบบการพัฒนาสหกรณ์โคนมในอนาคต และมาตรฐานการบัญชีโดยใช้เทคโนโลยี รวมทั้งการวิเคราะห์ภาวะเสี่ยงภัยทางการเงินของสหกรณ์โคนม ตลอดจนเพื่อให้ผู้เข้าเสวนาได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการพัฒนาศักยภาพสหกรณ์ให้เกิดความเข้มแข็งและพึ่งพาตนเองได้ในอนาคต

นายอนันต์ ภู่สิทธิกุล กล่าวต่ออีกว่า สิ่งที่ค่อนข้างเป็นห่วงสำหรับสหกรณ์โคนมคือระดับการควบคุมภายในที่ยังคงมีจุดอ่อนอยู่ประมาณ 27% และต้องเข้าไปให้การช่วยเหลือสหกรณ์โคนมที่ยังยืนอยู่ด้วยตนเองไม่ได้โดยใช้มาตรฐานบัญชี ซึ่งจะต้องได้รับความร่วมมือจากประธานและผู้จัดการสหกรณ์โคนมในการทำให้ระบบมาตรฐานบัญชีเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งกรมตรวจบัญชีสหกรณ์ ได้ร่วมกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พัฒนามาตรฐานการบัญชีสำหรับสหกรณ์โคนม อันจะนำไปสู่การนำเทคโนโลยีสารสนเทศสมัยใหม่มาใช้ในการดำเนินงานของสหกรณ์ ให้มีระบบระเบียบแบบแผนเป็นมาตรฐานและมีประสิทธิภาพมากขึ้น สามารถเป็นต้นแบบในการพัฒนาสหกรณ์ในประเภทธุรกิจเดียวกัน

นอกจากนี้ ภายในงานได้จัดให้มีการศึกษาดูงานด้านระบบการจัดการและพัฒนาธุรกิจสหกรณ์ให้มีประสิทธิภาพของสหกรณ์โคนมวังน้ำเย็น จำกัด จังหวัดสระแก้ว เพื่อนำไปปรับใช้กับสหกรณ์ที่รับผิดชอบ และการมอบเกียรติบัตรการพัฒนามาตรฐานการบัญชีด้วยเทคโนโลยีการบัญชีเต็มรูปแบบให้กับสหกรณ์โคนมรวม 60 แห่ง

http://www.cad.go.th/