ภาษีอากร


ภาษีอากร คือสิ่งที่รัฐบาลบังคับเก็บจากราษฎร เพื่อใช้เป็นประโยชน์ส่วนรวม โดยไม่ได้มีสิ่งตอบแทนโดยตรงแก่ผู้เสียภาษีอากร หรืออีกความหมาย คือ เงินได้หรือทรัพยากร ที่เคลื่อนย้ายจากเอกชนไปสู่รัฐบาล แต่ไม่รวมถึงการกู้ยืมหรือขายสินค้า หรือให้บริการในราคาทุนโดยรัฐบาล วัตถุประสงค์ในการเก็บภาษี เพื่อหารายได้ให้พอกับค่าใช้จ่ายของรัฐบาล เพื่อการกระจายรายได้ เพื่อควบคุมการบริโภคของประชาชน เพื่อการชำระหนี้สินของรัฐบาล หรือสนองนโยบายธุรกิจ และการคลังของรัฐบาล ประเภทภาษีอากร แบ่งเป็นภาษีอากรทางตรง และภาษีทางอ้อม ซึ่งกฎหมายที่ทางรัฐบาลใช้ในการเรียกเก็บภาษี คือ ประมวลรัษฎากร

ลักษณะของภาษีอากรที่ดี รัฐธรรมนูญเกือบทุกฉบับมักบัญญัติให้ประชาชนมีหน้าที่ต้องเสียภาษีอากรตามที่กฎหมายบัญญัติ ในการบัญญัติกฎหมายภาษีอากรที่ดีนั้น มีหลักการบางประการที่ควรคำนึงถึง เพื่อให้ประชาชนมีความสมัครใจในการเสียภาษีอากร และให้กฎหมายดังกล่าวใช้บังคับได้อย่างมีประสิทธิภาพ ภาษีอากรที่ดีควรมีลักษณะดังนี้

  1. มีความเป็นธรรม
  2. มีความแน่นอน และชัดเจน
  3. มีความสะดวก
  4. มีประสิทธิภาพ
  5. มีความเป็นกลางทางเศรษฐกิจ
  6. อำนวยรายได้
  7. มีความยืดหยุ่น

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี


ประวัติ ภาษีมูลค่าเพิ่ม


ในวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2535 ประเทศไทยได้เริ่มมีการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นครั้งแรก

การนำภาษีมูลค่าเพิ่มมาใช้เป็นผลมาจากเหตุผลในทางเศรษฐกิจ กล่าวคือ จากการที่เศรษฐกิจของประเทศไทยขยายตัวอย่างรวดเร็ว ฐานะทางเศรษฐกิจการเงินการคลังของประเทศมั่นคงขึ้นมาก ในขณะที่มีการกล่าวถึงความไม่เหมาะสมของโครงสร้างภาษีการค้าต่อเศรษฐกิจของประเทศ อันได้แก่ความซ้ำซ้อนของระบบภาษีการค้าที่เป็นอยู่ และความหลากหลายของโครงสร้างอัตราภาษีนอกจากความบกพร่องของระบบภาษีการค้า ซึ่งไม่เอื้ออำนวยต่อการพัฒนาเศรษฐกิจในอนาคตแล้ว ความต้องการเปลี่ยนแปลงระบบภาษีของทางการ ยังสืบเนื่องมาจากเหตุผลทางด้านภาษีอากรอีกด้วย กล่าวคือ ความสามารถในการหารายได้ของรัฐผ่านเครื่องมือทางภาษีการค้าและภาษีศุลกากรได้ลดน้อยลงเป็นลำดับ

ด้วยเหตุผลดังกล่าว กระทรวงการคลัง จึงได้เสนอพิจารณายกเลิกภาษีการค้า และนำภาษีมูลค่าเพิ่มมาใช้แทน โดยภาษีมูลค่าเพิ่มดังกล่าวจะมีอัตราเดียวที่ใช้กับสินค้าและบริการทุกชนิด สำหรับสินค้าใดที่มีเหตุผลทางเศรษฐกิจที่จะเก็บสูงกว่าอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม ให้เก็บภาษีสรรพสามิตเพิ่มเติมจากภาษีมูลค่าเพิ่ม

การนำภาษีมูลค่าเพิ่มมาใช้นี้ นับเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญต่อระบบภาษีอากรของประเทศไทยเป็นการปฏิรูปภาษีการค้าครั้งใหญ่ ทำให้ระบบภาษีอากรของประเทศมีความสอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน และเอื้ออำนวยต่อการลงทุนการส่งออก และการขยายตัวอย่างรวดเร็วของเศรษฐกิจ เนื่องจากภาษีมูลค่าเพิ่มไม่มีความซ้ำซ้อนของภาระภาษีดังเช่นภาษีการค้า นอกจากนี้ภาษีมูลค่าเพิ่มทำให้เกิดความเป็นธรรมและความสะดวกต่อการปฏิบัติตามของผู้เสียภาษีอีกด้วย

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี