กระตุ้นผู้ประกอบการเตรียมปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงสู่ AEC


กระตุ้นผู้ประกอบการเตรียมปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงสู่ AEC

                    กรมพัฒนาธุรกิจการค้า จัดสัมมนา “แก้วิกฤต สต๊อกบวม เราทำได้…คุณก็ทำได้” และ “เตรียมความพร้อมธุรกิจค้าส่ง-ค้าปลีก…สู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)” ในวันอังคารที่  3 พฤศจิกายน 2552 ณ ห้องประชุม A ชั้น 7 กรมพัฒนาธุรกิจการค้า

                   กรมพัฒนาธุรกิจการค้าจัดงานสัมมนา “แก้วิกฤต สต๊อกบวม เราทำได้…คุณก็ทำได้” โดยได้เชิญผู้ประกอบการค้าส่งที่เข้าร่วมโครงการพัฒนาโลจิสติกส์ และสมาคมผู้ประกอบการค้าส่ง-ค้าปลีกไทย โดยเน้นกลุ่มสินค้าอุปโภค-บริโภคประจำวัน เข้าร่วมงาน ซึ่งในงานจะมีการบรรยายให้ความรู้ในเรื่อง “เตรียมความพร้อมธุรกิจค้าส่ง- ค้าปลีก…สู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC)” เพื่อให้ผู้ประกอบค้าส่ง – ค้าปลีกได้มีการเตรียมความพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงต่อระบบการเปิดเสรีทางการค้าและข้อตกลงประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน รวมทั้งได้รับความรู้ในเรื่องการบริหารจัดการโลจิสติกส์ ธุรกิจค้าส่งสินค้าประจำวัน กิจกรรมภายในงานนอกจากจะมีการบรรยายในเรื่องดังกล่าวแล้ว ยังมีการมอบวุฒิบัตรแก่ผู้ประกอบการค้าส่งที่ผ่านการอบรมและพัฒนาจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า การนำเสนอผลการดำเนินกิจกรรมโครงการพัฒนาโลจิสติกส์   และการเสวนาโดยทีมที่ปรึกษาโครงการ นายกสมาคมค้าส่ง–ค้าปลีกไทย และตัวแทนผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการ  อนึ่งการจัดงานในครั้งนี้ คาดว่าจะทำให้ผู้เข้าร่วมงานได้เกิดการแลกเปลี่ยนแนวคิด ประสบการณ์ในการพัฒนาของผู้ประกอบการที่เข้าร่วมกิจกรรมกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้าและทีมที่ปรึกษา รวมทั้ง การปรับปรุงกระบวนการจัดการโลจิสติกส์ในองค์กร ซึ่งทำให้เกิดประโยชน์ต่อผู้บริโภครวมถึงเศรษฐกิจของประเทศ เนื่องจากการลดต้นทุนโลจิสติกส์ของธุรกิจ

                   ผู้ประกอบธุรกิจค้าส่ง – ค้าปลีก ที่สนใจเข้าร่วมงาน สมัครได้ที่ สำนักส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า โทร 0 2547 5957 , 0 2547 5986 หรือ www.dbd.go.th

                     ********************************************

 ที่มา : สำนักส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ                                      ฉบับที่ 74  / 28 ตุลาคม 2552


กระทรวงพาณิชย์กับเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศ (International Trade Day)


กระทรวงพาณิชย์ ขอเชิญผู้ประกอบการและผู้ที่สนใจเข้าร่วมงาน “กระทรวงพาณิชย์กับเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศ (International Trade Day)”
Thursday, 22 October 2009 11:14 — ทั่วไป
กรุงเทพฯ–22 ต.ค.–อินทิเกรเต็ด คอมมูนิเคชั่น กระทรวงพาณิชย์ ขอเชิญผู้ประกอบการและผู้ที่สนใจเข้าร่วมงาน “กระทรวงพาณิชย์กับเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศ (International Trade Day)” เพื่อแถลงผลการดำเนินงานและทิศทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้านการค้าระหว่างประเทศ ในวันพุธที่ 28 ตุลาคม 2552 ณ ห้องประชุม 30410 ชั้น 4 อาคารสำนักงานปลัดกระทรวงพาณิชย์ ตั้งแต่เวลา 08.30 – 16.30 น   ภายในงานจะมีการบรรยายพิเศษ ในหัวข้อ “โอกาสการค้า การลงทุน ในต่างประเทศ” โดยเอกอัครราชทูต/ทูตพาณิชย์ต่างประเทศประจำประเทศไทย นอกจากนี้ ยังมีนิทรรศการเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับทิศทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างประเทศของกระทรวงพาณิชย์ แผนยุทธศาสตร์การค้าภูมิภาคสู่สากล (Local to Global) และข้อมูลการค้าจากทูตพาณิชย์ต่างประเทศประจำประเทศไทย สนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 02-507-6502 และ 02-507-6488 หรือ www.moc.go.th

ข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ
อุษณีย์ ถาวรกาญจน์
ผู้อำนวยการฝ่ายสื่อมวลชนสัมพันธ์
บริษัท อินทิเกรเต็ด คอมมูนิเคชั่น จำกัด
โทร.0 2354 3588 โทรสาร 0 2354 3589
Email : usanee@incom.co.th

ที่มา:http://www.newswit.com


สรรพสามิตจับบุหรี่เถื่อนครั้งใหญ่ คิดเป็นเงินค่าปรับกว่า 70 ล้าน


สรรพสามิตจับบุหรี่เถื่อนครั้งใหญ่ คิดเป็นเงินค่าปรับกว่า 70 ล้าน

นายพฤฒิชัย ดำรงรัตน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่าได้มอบนโยบายให้กรมสรรพสามิต กำกับติดตามดูแลสินค้าที่หลีกเลี่ยงภาษีและสินค้าที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยของประชาชนและสังคม อย่างเคร่งครัด คลิกที่นี่http://www.excise.go.th/index.php?id=152&tx_ttnews[tt_news]=149&tx_ttnews[backPid]=27&cHash=f0e9d24ece

ฉบับที่ ถ. 01/2552 


เผยผลวิจัยธุรกิจบริการไทย 24 สาขา ทางอินเทอร์เน็ต


เผยผลวิจัยธุรกิจบริการไทย 24 สาขา ทางอินเทอร์เน็ต
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้ทำการศึกษาวิเคราะห์วิจัยธุรกิจบริการ 24 สาขา        เพื่อพัฒนาระบบตลาดและเพิ่มศักยภาพธุรกิจบริการไทย สำหรับผู้ประกอบการ และผู้สนใจทั่วไป สามารถ Download ผลการศึกษาวิจัยได้จากเว็บไซต์ www.dbd.go.th
นายคณิสสร  นาวานุเคราะห์ อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เปิดเผยว่า ธุรกิจบริการมีบทบาทสำคัญในการสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ ประกอบกับภาครัฐมีนโยบายในการส่งเสริมพัฒนาธุรกิจบริการให้มีศักยภาพแข่งขันได้ในระดับสากล กรมฯ จึงได้ดำเนินโครงการพัฒนาระบบตลาด และเพิ่มศักยภาพธุรกิจบริการไทย ประกอบด้วย การศึกษาวิเคราะห์วิจัยข้อมูลเกี่ยวกับธุรกิจบริการในภาพรวมของประเทศ และธุรกิจบริการรายสาขา  24 สาขา ได้แก่    1. ธุรกิจให้บริการด้านวิศวกรรม  2.ธุรกิจให้บริการด้านสถาปัตยกรรม  3.ธุรกิจให้บริการด้านที่เกี่ยวกับก่อสร้างทั่วไป  4.ธุรกิจบริหารจัดการอสังหาริมทรัพย์  5.ธุรกิจบริการทำความสะอาด        6.ธุรกิจบริการด้านความปลอดภัย  7.ธุรกิจให้คำปรึกษาด้านการบริหารจัดการ  8.ธุรกิจการแปรรูปของใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่  9.ธุรกิจอาหารไทยเพื่อการส่งออก  10.ธุรกิจสปา  11.ธุรกิจให้บริการความงาม  12.ธุรกิจดูแลผู้สูงอายุ  13.ธุรกิจขนส่งสินค้าทางถนน  14.ธุรกิจขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ  15.ธุรกิจโลจิสติกส์  16.ธุรกิจค้าปลีก  17.ธุรกิจบริการขายส่ง  18.ธุรกิจซ่อมรถยนต์        19.ธุรกิจการให้บริการจัดเก็บสินค้า  20.ธุรกิจการพัฒนาซอฟแวร์  21.ธุรกิจแอนิเมชั่นและคอมพิวเตอร์กราฟฟิค   22.ธุรกิจการพัฒนาบริการทางเว็บ  23.ธุรกิจโฆษณา 24.ธุรกิจสิ่งพิมพ์และสำนักพิมพ์ ซึ่งขณะนี้ได้ทำการวิจัยเสร็จสิ้นแล้ว และได้จัดทำเป็นเอกสารและแผ่นซีดีรอม  รวมทั้งได้นำผลการวิจัยเผยแพร่ทางเว็บไซต์กรมฯ เพื่อให้ผู้ประกอบการนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาระบบตลาดและศักยภาพธุรกิจบริการไทยให้แข่งขันได้ทั้งในและต่างประเทศ

ทั้งนี้ ผู้ประกอบการและผู้สนใจทั่วไป สามารถ Download ผลการศึกษาวิจัยได้จาก เว็บไซต์ www.dbd.go.th หัวข้อ Hot News
ที่มา : สำนักส่งเสริมและพัฒนาธุรกิจ

ฉบับที่ 72 / 13 ตุลาคม  2552


กฎหมายออกใหม่ ” ต.ค.2552″


คำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.177/2552

คำสั่งกรมสรรพากร
ที่ ท.ป. ๑๗๗/๒๕๕๒
เรื่อง กำหนดสถานที่รับแบบแสดงรายการ และรับชำระเงินภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร

———————————————

                       อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๑๑ มาตรา ๘๓ และมาตรา ๙๑/๑๐ แห่งประมวลรัษฎากร อธิบดีกรมสรรพากรจึงมีคำสั่งดังต่อไปนี้

                       ข้อ ๑ ให้ยกเลิกความในข้อ ๒ (๓) ของคำสั่งกรมสรรพากร ที่ ท.ป. ๑๑๒/๒๕๔๕ เรื่อง กำหนดสถานที่รับแบบแสดงรายการ และรับชำระเงินภาษีอากรตามประมวลรัษฎากร ลงวันที่ ๑๐ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๔๕ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
                             “ (๓) หน่วยงานสรรพากร อาคารกองอำนวยการตลาดโรงเกลือ เลขที่ ๓๕๐ หมู่ที่ ๗ ตำบลป่าไร่ อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว สำหรับการยื่นแบบแสดงรายการภาษีกรณีการขายสินค้าชายแดนระหว่างราชอาณาจักรไทยและราชอาณาจักรกัมพูชา ณ จุดผ่อนปรน โรงเกลือ หมู่ที่ ๗ ตำบลป่าไร่ อำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว ได้อีกแห่งหนึ่ง นอกจากที่สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาอรัญประเทศ”

                       ข้อ ๒ คำสั่งนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๑ กันยายน พ.ศ. ๒๕๕๒ เป็นต้นไป

สั่ง ณ วันที่ ๑๒ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๒

วินัย วิทวัสการเวช
(นายวินัย วิทวัสการเวช)
อธิบดีกรมสรรพากร

 

คำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป.176/2552

 คำสั่งกรมสรรพากร
ที่ ท.ป.๑๗๖/๒๕๕๒
เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา ๔๐ แห่งประมวลรัษฎากร
มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย
——————————————

                 อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๓ เตรส แห่งประมวลรัษฎากร และกฎกระทรวง ฉบับที่ ๑๔๔ (พ.ศ. ๒๕๒๒) ออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยภาษีเงินได้ อธิบดีกรมสรรพากรสั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา ๔๐ แห่งประมวลรัษฎากร ซึ่งไม่มีหน้าที่หักภาษี ณ ที่จ่าย ตามหมวด ๓ ในลักษณะ ๒ แห่งประมวลรัษฎากร หักภาษี ณ ที่จ่าย ตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และอัตราดังต่อไปนี้

                 ข้อ ๑ ให้ยกเลิกความในวรรคสองและวรรคสามของข้อ ๖ ของคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. ๔/๒๕๒๘ เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา ๔๐ แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ ๒๖ กันยายน พ.ศ. ๒๕๒๘ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยคำสั่งกรมสรรพากรที่ ท.ป. ๓๔/๒๕๓๔ เรื่อง สั่งให้ผู้จ่ายเงินได้พึงประเมินตามมาตรา ๔๐ แห่งประมวลรัษฎากร มีหน้าที่หักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย ลงวันที่ ๒๖ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๔ และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
                          “ความในวรรคหนึ่ง ไม่ให้ใช้บังคับกับการจ่ายเงินค่าเช่าตามสัญญาให้เช่าทรัพย์สินแบบลีสซิ่งที่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
                          (๑) ผู้ให้เช่าเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีทุนจดทะเบียนที่ได้รับชำระแล้วไม่ต่ำกว่า ๖๐ ล้านบาท และเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม ซึ่งต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มตามมาตรา ๘๒/๓ แห่งประมวลรัษฎากร
                          (๒) ผู้เช่าเป็นนิติบุคคล
                          (๓) กำหนดเวลาเช่าต้องมีระยะเวลาตั้งแต่ ๓ ปีขึ้นไป เว้นแต่ทรัพย์สินที่ให้เช่าเป็นทรัพย์สินที่ผู้ให้เช่ายึดมาจากผู้เช่ารายอื่น ระยะเวลาในการให้เช่าอาจไม่ถึง ๓ ปีก็ได้
                          คำว่า “การให้เช่าทรัพย์สินแบบลีสซิ่ง” หมายความว่า สัญญาให้เช่าทรัพย์สิน ซึ่งผู้ให้เช่าเป็นเจ้าของทรัพย์สินและนำออกให้เช่าโดยให้คำมั่นว่า เมื่อสิ้นสุดสัญญาเช่า ผู้เช่ามีสิทธิเลือกที่จะซื้อทรัพย์สินที่เช่าหรือส่งคืนทรัพย์สินนั้นแก่ผู้ให้เช่าก็ได้”

                 ข้อ ๒ คำสั่งนี้ให้ใช้บังคับสำหรับการจ่ายเงินได้พึงประเมินตั้งแต่วันที่ที่ลงในคำสั่งนี้เป็นต้นไป

สั่ง ณ วันที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๕๒

วินัย วิทวัสการเวช
(นายวินัย วิทวัสการเวช)
อธิบดีกรมสรรพากร

 http://www.rd.go.th/publish/41668.0.html