ผู้มีหน้าที่เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม


ผู้ประกอบการที่ขายสินค้า หรือ ให้บริการในทางธุรกิจหรือวิชาชีพเป็นปกติธุระ ไม่ว่าจะประกอบกิจการในรูปของบุคคลธรรมดา คณะบุคคลหรือห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคล หรือนิติบุคคลใด ๆ หากมีรายรับจากการขายสินค้าหรือให้บริการเกินกว่า 1.8 ล้านบาทต่อปี มีหน้าที่ต้องยื่นคำขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม เพื่อเป็นผู้ประกอบการจดทะเบียน โดยคำนวณภาษีที่ต้องเสียจากภาษีขายหักด้วยภาษีซื้อ


ประเภทของภาษีในประเทศไทย


ประเภทของภาษีในประเทศไทย

ภาษีอากรที่ทางกรมสรรพากร จัดเก็บมี 5 ประเภท คือ

  • ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา
  • ภาษีเงินได้นิติบุคคล
  • ภาษีมูลค่าเพิ่ม
  • ภาษีธุรกิจเฉพาะ
  • ภาษีอากรแสตมป์

และภาษีส่วนที่จัดเก็บโดยส่วนท้องถิ่น ได้แก่

  • ภาษีป้าย
  • ภาษีโรงเรือนและที่ดิน
  • ภาษีบำรุงท้องที่

อีกทั้งยังมีภาษีอากรที่จัดเก็บโดย กรมสรรพสามิต ที่เรียกว่าภาษีสรรพสามิต ที่เรียกเก็บกับสินค้าและบริการบางประเภท เช่น สุรา ยาสูบ น้ำหอม

จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี


ภาษีธุรกิจเฉพาะ


ผู้มีหน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะ
ผู้มีหน้าที่เสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ได้แก่ ผู้ประกอบกิจการที่ต้องเสียภาษีธุรกิจเฉพาะ ไม่ว่าผู้ประกอบกิจการดังกล่าวจะประกอบกิจการในรูปของ

–   บุคคลธรรมดา

–   คณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล

–   กองมรดก

–   ห้างหุ้นส่วนสามัญ

–   กองทุน

–   หน่วยงานหรือกิจการของเอกชนที่กระทำโดยบุคคลธรรมดาตั้งแต่สองคนขึ้นไปอันมิใช่นิติบุคคล

–   องค์การของรัฐบาล สหกรณ์ และองค์กรอื่นที่กฎหมายกำหนดให้เป็นนิติบุคคล

ในกรณีผู้ประกอบกิจการอยู่นอกราชอาณาจักร ให้ผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในการประกอบกิจการรวมตลอดถึง ลูกจ้าง ตัวแทน หรือผู้ทำการแทนซึ่งมีอำนาจในการจัดการแทนโดยตรง หรือโดยปริยายที่อยู่ในราชอาณาจักร เป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีร่วมกับผู้ประกอบกิจการดังกล่าวข้างต้น