สรุปสาระสำคัญของพระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี พ.ศ. 2547


สรุปสาระสำคัญของพระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี พ.ศ. 2547

พระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี พ.ศ. 2547 เป็นกฎหมายใหม่ที่ประกาศใช้ทดแทนพระราชบัญญัติผู้สอบบัญชี พ.ศ. 2505 มีทั้งหมด 78 มาตรา จัดแบ่งเป็น 9 หมวดและบทเฉพาะกาล สรุปสาระสำคัญได้ดังนี้

1. คำนิยามของ “วิชาชีพบัญชี”

“วิชาชีพบัญชี” หมายถึง วิชาชีพในด้านการทำบัญชี ด้านการสอบบัญชี ด้านการบัญชีบริหาร ด้านการวางระบบบัญชี ด้านการบัญชีภาษีอากร ด้านการศึกษาและเทคโนโลยีการบัญชี ทั้งนี้ ในภายหน้าหากเห็นว่ามีบริการเกี่ยวกับการบัญชีด้านใดที่มีความสำคัญ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์อาจออกกฎกระทรวงกำหนดบริการเกี่ยวกับการบัญชี ด้านนั้นเพิ่มเติมขึ้นในคำนิยามวิชาชีพบัญชีก็ได้ เช่น การตรวจสอบภายใน เป็นต้น

2. สภาวิชาชีพบัญชี

สภาวิชาชีพบัญชีมีฐานะเป็นนิติบุคคล มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมและพัฒนาวิชาชีพบัญชีและมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
(1) ส่งเสริมการศึกษา การอบรม และการวิจัยเกี่ยวกับวิชาชีพบัญชี
(2) ส่งเสริมความสามัคคีและผดุงเกียรติของสมาชิก จัดสวัสดิการและการสงเคราะห์ระหว่างสมาชิก
(3) กำหนดมาตรฐานการบัญชี มาตรฐานการสอบบัญชี และมาตรฐานอื่นที่เกี่ยวกับวิชาชีพบัญชี
(4) กำหนดจรรยาบรรณผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี
(5) รับขึ้นทะเบียนการประกอบวิชาชีพบัญชี ออกใบอนุญาต พักใช้ หรือเพิกถอนใบอนุญาตผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี
(6) รับรองปริญญาหรือประกาศนียบัตรในวิชาการบัญชีของสถาบันการศึกษาต่างๆเพื่อประโยชน์ในการรับสมัครเป็นสมาชิก
(7) รับรองความรู้ความชำนาญในการประกอบวิชาชีพบัญชี
(8) รับรองหลักสูตรการฝึกอบรมเป็นผู้ชำนาญการและการศึกษาต่อเนื่องในด้านต่างๆของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี
(9) ควบคุมความประพฤติและการดำเนินงานของสมาชิกและผู้ขึ้นทะเบียนอันเกี่ยว กับการประกอบวิชาชีพบัญชีให้ถูกต้องตามจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพบัญชี
(10) ช่วยเหลือ แนะนำ เผยแพร่ และให้บริการวิชาการแก่ประชาชนเกี่ยวกับวิชาชีพบัญชี
(11) ออกข้อบังคับสภาวิชาชีพบัญชี
(12) เป็นตัวแทนของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี
(13) ให้คำปรึกษาและเสนอแนะต่อรัฐบาลเกี่ยวกับนโยบายและปัญหาของวิชาชีพบัญชี
(14) ดำเนินการอื่นเพื่อให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และอำนาจหน้าที่ของสภาวิชาชีพ บัญชีตามพระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี พ.ศ. 2547

3. โครงสร้างองค์กรตาม พ.ร.บ. วิชาชีพบัญชี พ.ศ. 2547

พระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี พ.ศ. 2547 กำหนดให้มีคณะกรรมการต่างๆ เพื่อประโยชน์ในการกำกับดูแล การพัฒนาความรู้ ส่งเสริมมาตรฐานการประกอบวิชาชีพบัญชีให้มีคุณภาพ และควบคุมจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี ซึ่งคณะกรรมการต่างๆ ได้แก่ คณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชี คณะกรรมการสภาวิชาชีพบัญชี คณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชี คณะกรรมการจรรยาบรรณ คณะกรรมการวิชาชีพบัญชีแต่ละด้าน และคณะกรรมการอื่นๆ ซึ่งมีโครงสร้างและองค์ประกอบของคณะกรรมการแต่ละชุด ดังนี้
สรุปสาระสำคัญของพระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี พ.ศ. 2547
4. สมาชิกสภาวิชาชีพบัญชี

แบ่ง 4 ประเภท ดังนี้
– สมาชิกสามัญ ต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย อายุไม่ต่ำกว่า 20 ปี และสำเร็จการศึกษาในระดับไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่าทางการบัญชี หรือสาขาอื่นตามที่สภาวิชาชีพกำหนด
– สมาชิกวิสามัญ
(1) กรณีเป็นผู้มีสัญชาติไทย ต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า 20 ปี และสำเร็จการศึกษาในระดับไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่าทางบริหารธุรกิจ พาณิชยศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ หรือสาขาอื่นที่คณะกรรมการสภาวิชาชีพบัญชีพิจารณาเห็นว่ามีความเกี่ยวข้อง กับการประกอบวิชาชีพบัญชี
(2) กรณีเป็นผู้ไม่มีสัญชาติไทย ต้องเป็นบุคคลซึ่งมีสัญชาติของประเทศที่ยินยอมให้ผู้มีสัญชาติไทยประกอบ อาชีพสอบบัญชีในประเทศนั้นได้ อายุไม่ต่ำกว่า 20 ปี และสำเร็จการศึกษาในระดับไม่ต่ำกว่าปริญญาตรีทางการบัญชี
– สมาชิกสมทบ ต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย อายุไม่ต่ำกว่า 18 ปี และสำเร็จการศึกษาในระดับที่ต่ำกว่าปริญญาตรี แต่ไม่ต่ำกว่าประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) ทางการบัญชี
– สมาชิกกิตติมศักดิ์ คือ ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับเชิญเป็นสมาชิกตามมติของคณะกรรมการสภาวิชาชีพบัญชี
สิทธิและหน้าที่ของสมาชิกสามัญมีดังต่อไปนี้
(1) แสดงความคิดเห็นในการประชุมใหญ่
(2) ออกเสียงลงคะแนนในการประชุมใหญ่
(3) เลือกตั้ง รับเลือกตั้ง หรือรับแต่งตั้ง เป็นกรรมการหรือดำรงตำแหน่งอื่นอันเกี่ยวกับกิจการของสภาวิชาชีพบัญชี
(4) สมาชิกสามัญไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยคนเข้าชื่อเสนอร่างข้อบังคับต่อสภาวิชาชีพบัญชีได้
(5) สมาชิกสามัญไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยคนเข้าชื่อกันทำหนังสือร้องขอให้นายกสภาวิชาชีพบัญชีเรียกประชุมใหญ่วิสามัญได้
(6) ชำระค่าบำรุงสมาชิกหรือค่าธรรมเนียม
(7) ผดุงไว้ซึ่งเกียรติศักดิ์แห่งวิชาชีพบัญชีและปฏิบัติตนตามบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี พ.ศ. 2547
(8) สิทธิและหน้าที่อื่นตามที่สภาวิชาชีพบัญชีกำหนด
สมาชิกวิสามัญ สมาชิกสมทบ และสมาชิกกิตติมศักดิ์ มีสิทธิและหน้าที่ตาม (1) (6) (7) และ (8)

5. มาตรฐานการบัญชี

คณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชี ซึ่งประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิที่คณะกรรมการสภาวิชาชีพบัญชีแต่งตั้งจากผู้มี ความรู้ความชำนาญ และประสบการณ์เกี่ยวกับการบัญชี มีจำนวนไม่น้อยกว่า 7 คน แต่ไม่เกิน 11 คน และผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีก 6 หน่วยงานทำหน้าที่กำหนดมาตรฐานการบัญชี
แนวทางในการกำหนดมาตรฐานการบัญชีของคณะกรรมการฯมีดังนี้
(1) มาตรฐานการบัญชีต้องจัดทำเป็นภาษาไทย
(2) มาตรฐานการบัญชีที่คณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชีกำหนดและปรับปรุง จะใช้บังคับได้ก็ต่อเมื่อได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบ วิชาชีพบัญชี และประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว
(3) หากคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานการบัญชี ได้รับแจ้งจากผู้ทำบัญชี ผู้มีหน้าที่ จัดทำบัญชี ผู้ใช้ข้อมูลทางการเงิน หรือหน่วยงานอื่นใด ว่ามีปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชีที่กำหนดไว้ ซึ่งอาจก่อให้เกิดความเสียหาย หรือการปฏิบัติตามมาตรฐานการบัญชีดังกล่าว ทำให้เกิดความเสียหายต่อเศรษฐกิจของประเทศหรือเป็นอุปสรรคต่อการประกอบ กิจการ คณะกรรมการฯต้องดำเนินการตรวจสอบและรับฟังความคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้อง และกำหนด ปรับปรุง หรือพัฒนามาตรฐานการบัญชีโดยเร็วที่สุด 6. วิชาชีพบัญชีควบคุม

ในเบื้องต้นพระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี พ.ศ. 2547 กำหนดให้มีการควบคุมการประกอบวิชาชีพบัญชี 2 ด้านก่อน คือ ด้านการสอบบัญชีและด้านการทำบัญชี แต่ในภายหน้าหากมีความจำเป็นอาจมีการตราพระราชกฤษฎีกากำหนดให้การประกอบ วิชาชีพด้านนั้นๆ ต้องมีการควบคุมเพิ่มขึ้นได้

(1) วิชาชีพด้านการสอบบัญชี
ผู้ที่จะประกอบวิชาชีพสอบบัญชีจะต้องเป็นสมาชิกสามัญของสภาวิชาชีพบัญชีและ ต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กฎหมายกำหนดและต้องได้รับใบ อนุญาตจากสภาวิชาชีพบัญชี ใบอนุญาตผู้สอบบัญชีไม่มีอายุแต่ต้องชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตเป็นรายปี ปีละ 1,000 บาท ทั้งนี้ใบอนุญาตผู้สอบบัญชีอาจสิ้นผลได้ในหลายกรณี เช่น ขาดจากสมาชิกสภาฯ ขาดคุณสมบัติ ถูกเพิกถอนใบอนุญาต ไม่ชำระค่าธรรมเนียม ไม่เข้ารับการอบรมตามหลักเกณฑ์ที่สภาฯกำหนด เป็นต้น
(2) วิชาชีพด้านการทำบัญชี
ผู้ที่จะประกอบวิชาชีพเป็นผู้ทำบัญชีจะต้องเป็นสมาชิกสภาวิชาชีพบัญชีหรือ ขึ้นทะเบียนกับสภาวิชาชีพบัญชีอย่างใดอย่างหนึ่งก่อนจึงจะสามารถประกอบ วิชาชีพได้ และต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กฎหมายกำหนด ทั้งนี้ค่าธรรมเนียมการขึ้นทะเบียนผู้ทำบัญชีปีละ 500 หรือ 300 บาท แล้วแต่คุณวุฒิการศึกษาเช่นเดียวกับการเป็นสมาชิก สำหรับผู้ทำบัญชีที่ไม่มีคุณวุฒิด้านบัญชีโดยตรงแต่เป็นผู้ทำบัญชีตามมาตรา 42 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. 2543 ที่แจ้งการทำบัญชีต่อกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ซึ่งจะสามารถทำบัญชีให้แก่ธุรกิจได้จนถึงวันที่ 9 สิงหาคม 2551 ก็ต้องไปขอขึ้นทะเบียนต่อสภาวิชาชีพบัญชี และกรณีผู้ทำบัญชีกลุ่มนี้มีคุณสมบัติที่จะเป็นสมาชิกวิสามัญได้ก็สามารถ เลือกการเป็นสมาชิกแทนการขึ้นทะเบียนกับสภาวิชาชีพบัญชีก็ได้ แต่หากไม่ศึกษาต่อเพื่อให้มีคุณวุฒิทางบัญชีโดยตรง ไม่ว่าจะเป็นสมาชิกวิสามัญหรือขึ้นทะเบียนก็จะทำบัญชีได้จนถึงวันที่ 9 สิงหาคม 2551 เท่านั้น ทั้งนี้ ผู้ทำบัญชีมีหน้าที่ต้องปฏิบัติตามทั้งพระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. 2543 และพระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี พ.ศ. 2547 โดยเมื่อจะเริ่มทำบัญชีต้องไปเป็นสมาชิกหรือขึ้นทะเบียนกับสภาวิชาชีพบัญชี ก่อน แล้วภายใน 60 วันนับแต่วันเริ่มทำบัญชีต้องไปแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับการทำบัญชีที่กรมพัฒนา ธุรกิจการค้าซึ่งจะได้รับหมายเลขรหัสผู้ทำบัญชีต่อไป

7. จรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี

7.1 ข้อกำหนดในเรื่องจรรยาบรรณ
(1) ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีหรือผู้ซึ่งขึ้นทะเบียนไว้กับสภาวิชาชีพบัญชีมี หน้าที่ต้องปฏิบัติตามจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี และต้องปฏิบัติหน้าที่ของตนตามมาตรฐานการบัญชี มาตรฐานการสอบบัญชี หรือมาตรฐานอื่นใดที่เกี่ยวข้องตามที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัตินี้
(2) สภาวิชาชีพบัญชี เป็นผู้จัดทำจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีขึ้นเป็นภาษาไทย และอย่างน้อยต้องประกอบด้วยข้อกำหนดในเรื่อง
• ความโปร่งใส ความเป็นอิสระ ความเที่ยงธรรมและความซื่อสัตย์สุจริต
• ความรู้ความสามารถและมาตรฐานในการปฏิบัติงาน
• ความรับผิดชอบต่อผู้รับบริการและการรักษาความลับ
• ความรับผิดชอบต่อผู้ถือหุ้น ผู้เป็นหุ้นส่วน หรือบุคคลหรือนิติบุคคลที่ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีปฏิบัติหน้าที่ให้
(3) การกระทำดังต่อไปนี้ ถือว่าเป็นการประพฤติผิดจรรยาบรรณ
• ไม่ปฏิบัติตามจรรยาบรรณของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชี
• ไม่ปฏิบัติหน้าที่ของตนตามมาตรฐานการบัญชี มาตรฐานการสอบบัญชี หรือมาตรฐานอื่นใดที่เกี่ยวข้องที่กำหนดตามพระราชบัญญัตินี้
• ผู้สอบบัญชีรับอนุญาตรายงานผลการสอบบัญชีโดยระบุข้อความใดอันแสดงว่าตนไม่ รับผิดชอบในผลการตรวจสอบ หรือแสดงความไม่ชัดเจนในผลการตรวจสอบเพราะเหตุที่ตนมิได้ปฏิบัติหน้าที่โดย ครบถ้วนที่พึงคาดหวังได้หรือโดยครบถ้วนตามมาตรฐานการสอบบัญชี
7.2 โทษของการประพฤติผิดจรรยาบรรณ ได้กำหนดตามลำดับชั้นจากโทษเบาถึงโทษหนัก ดังต่อไปนี้
(1) ตักเตือนเป็นหนังสือ
(2) ภาคทัณฑ์
(3) พักใช้ใบอนุญาต พักการขึ้นทะเบียน หรือห้ามการประกอบวิชาชีพบัญชีด้านที่ประพฤติผิดจรรยาบรรณโดยมีกำหนดเวลาแต่ไม่เกิน 3 ปี
(4) เพิกถอนใบอนุญาต เพิกถอนการขึ้นทะเบียนหรือสั่งให้พ้นจากการเป็นสมาชิก
7.3 การพิจารณาและการลงโทษ เมื่อมีผู้กล่าวหาหรือปรากฏต่อคณะกรรมการจรรยาบรรณว่า ผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีหรือผู้ซึ่งขึ้นทะเบียนไว้กับสภาวิชาชีพบัญชีประพฤติ ผิดจรรยาบรรณ คณะกรรมการจรรยาบรรณจะดำเนินการสอบสวนพิจารณาโดยเร็ว หากผลการสอบสวนปรากฏว่าผู้นั้นประพฤติผิดจรรยาบรรณคณะกรรมการจรรยาบรรณ จะมีคำสั่งลงโทษตามข้อ 7.2 ทั้งนี้การออกคำสั่งลงโทษหรือออกคำสั่งยกคำกล่าวหาต้องแจ้งให้ผู้ถูกกล่าวหา หรือผู้กล่าวหาทราบเป็นหนังสือโดยเร็วด้วย
7.4 ผู้กล่าวหาหรือผู้ซึ่งถูกคณะกรรมการจรรยาบรรณสั่งลงโทษมีสิทธิอุทธรณ์คำสั่ง ต่อคณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชีผ่านทางกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับคำสั่ง ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่คณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชีกำหนด และการอุทธรณ์คำสั่งไม่เป็นการทุเลาการปฏิบัติตามคำสั่งลงโทษ เว้นแต่คณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชีจะสั่งเป็นอย่างอื่น ทั้งนี้คำวินิจฉัยของคณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชีให้ถือเป็น ที่สุด

8. การกำกับดูแลโดยภาครัฐ

ถึงแม้ว่าพระราชบัญญัติจะกำหนดให้มีสภาวิชาชีพบัญชีเป็นศูนย์รวมในการกำกับ ดูแลผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีแล้ว แต่ก็ยังมีความจำเป็นที่จะต้องมีภาครัฐเข้าไปกำกับดูแลองค์กรวิชาชีพอีกชั้น หนึ่งเพื่อรักษาความเป็นธรรมให้แก่ผู้ประกอบวิชาชีพ โดยมีคณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพบัญชีทำหน้าที่กำกับด้านนโยบาย จำนวน 14 คน ประกอบด้วยหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน และผู้ทรงคุณวุฒิด้านบัญชีและกฎหมาย ทำหน้าที่กำกับดูแลการทำงานของสภาวิชาชีพบัญชีเฉพาะเรื่องที่สำคัญและมีผล กระทบต่อสาธารณชน โดยเรื่องที่ต้องผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการกำกับดูแลการประกอบวิชาชีพ บัญชี คือ
(1) ให้ความเห็นชอบข้อบังคับเกี่ยวกับ ค่าธรรมเนียม/ค่าบำรุงสมาชิก,หลักเกณฑ์การฝึกอบรม,คุณสมบัติและลักษณะต้อง ห้ามของนายกสภาฯ กรรมการสภาฯเป็นต้น
(2) พิจารณาคำขออุทธรณ์ของผู้ประกอบวิชาชีพบัญชีซึ่งคณะกรรมการจรรยาบรรณสั่งลงโทษ
(3) พิจารณาคำขออุทธรณ์กรณีสภาวิชาชีพบัญชีไม่ออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ยื่นคำขอ
(4) ให้ความเห็นชอบมาตรฐานการบัญชีที่เสนอโดยสภาวิชาชีพบัญชี

9. นิติบุคคลที่ประกอบกิจการให้บริการด้านวิชาชีพควบคุม

นิติบุคคลซึ่งประกอบกิจการให้บริการด้านการสอบบัญชีหรือด้านการทำบัญชีต้องดำเนินการดังต่อไปนี้
(1) นิติบุคคลต้องจดทะเบียนต่อสภาวิชาชีพบัญชีตามเงื่อนไข ดังนี้
• นิติบุคคลที่ให้บริการการสอบบัญชี หรือการทำบัญชีอยู่ก่อนวันที่พระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี พ.ศ. 2547 ใช้บังคับ ให้ยื่นจดทะเบียนต่อสภาวิชาชีพบัญชี ภายใน 1 ปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ คือ ภายในวันที่ 22 ตุลาคม 2548 แต่หากให้บริการภายหลังจากวันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับให้ยื่นขอจด ทะเบียนต่อสภาวิชาชีพบัญชีภายใน 30 วัน หลังจากการจดทะเบียนจัดตั้งนิติบุคคลที่กรมพัฒนาธุรกิจการค้ากระทรวงพาณิชย์ แล้วเสร็จ โดยสภาวิชาชีพบัญชีได้กำหนดค่าจดทะเบียนนิติบุคคลไว้รายละ 2,000 บาท และต้องยื่นขอต่ออายุทุก 3 ปี นับจากวันจดทะเบียนกับสภาวิชาชีพบัญชี โดยดำเนินการต่ออายุภายใน 3 เดือนก่อนใบทะเบียนหมดอายุ
• นิติบุคคลนั้นต้องจัดให้มีหลักประกันเพื่อประกันความรับผิดต่อบุคคลที่สามตามประเภท จำนวน หลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดโดยกฎกระทรวง
• ในกรณีนิติบุคคลนั้นประกอบกิจการให้บริการสอบบัญชี บุคคลซึ่งมีอำนาจลงนามผูกพันนิติบุคคลในการให้บริการสอบบัญชีต้องเป็นผู้สอบ บัญชีรับอนุญาต
ทั้งนี้ ในกรณีที่นิติบุคคลนั้นให้บริการการสอบบัญชีหรือการทำบัญชีอยู่ก่อนวันที่ 23 ตุลาคม 2547 ซึ่งเป็นวันที่กฎหมายฉบับนี้ใช้บังคับ นอกจากกำหนดให้จดทะเบียนต่อสภาวิชาชีพบัญชีแล้ว
– นิติบุคคลนั้นต้องจัดให้มีหลักประกันเพื่อประกันความรับผิดต่อบุคคลที่สาม ให้ครบถ้วนภายในระยะเวลาตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ซึ่งต้องไม่เกินกว่าสามปี
– กรณีที่เป็นนิติบุคคลที่ให้บริการสอบบัญชี ก็ต้องดำเนินการให้บุคคลซึ่งมีอำนาจลงนามผูกพันนิติบุคคลในการให้บริการสอบ บัญชีต้องเป็นผู้สอบบัญชีภายในสามปีนับแต่วันที่พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับ นั้น ก็คือภายในวันที่ 22 ตุลาคม 2550 นั่นเอง
(2) ในกรณีผู้สอบบัญชีต้องรับผิดชอบต่อบุคคลที่สาม นิติบุคคลซึ่งผู้สอบบัญชีนั้นสังกัดอยู่ ต้องร่วมรับผิดด้วยอย่างลูกหนี้ร่วม และหากยังไม่สามารถชำระค่าเสียหายได้ครบจำนวนให้หุ้นส่วนหรือกรรมการผู้มี อำนาจผูกพันนิติบุคคลนั้น ต้องร่วมรับผิดจนครบจำนวนเว้นแต่พิสูจน์ได้ว่าตนมิได้มีส่วนรู้เห็นหรือ ยินยอมในการกระทำผิดที่ต้องรับผิด

10. บทกำหนดโทษ

บทกำหนดโทษตามพระราชบัญญัติวิชาชีพบัญชี พ.ศ. 2547 นี้ มีทั้งโทษฐานประพฤติผิดจรรยาบรรณตามที่ได้กล่าวมาแล้วในข้อ 7 และโทษทางอาญาซึ่งมีทั้งโทษปรับและจำคุก